พิมพ์เขียวการศึกษาของประเทศมาเลเซีย เพื่อยกระดับผลการประเมินโครงการ TIMSS

ผู้เขียน

นางเกตุวดี  จังวัฒนกุล

ผู้ชำนาญ ฝ่ายวิจัย

เผยแผร่ออนไลน์ 5 สิงหาคม 2559


การศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ
(TIMSS) เป็นโครงการที่สมาคมนานาชาติเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (The International Association for the Evaluation of Educational Achievement; IEA) ร่วมกับประเทศสมาชิกประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และศึกษาแนวโน้มของการจัดการศึกษาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (grade 4) และมัธยมศึกษาปีที่ 2 (grade 8) โดยมีประเทศที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 50 ประเทศ ซึ่งในการประเมินครั้งล่าสุด พ.ศ. 2558 หรือ TIMSS 2015 มีประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมประเมินนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 2 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย และมาเลเซีย

จากผลการประเมินที่ผ่านมา (TIMSS 1999 - 2011) ประเทศไทยและมาเลเซียมีผลคะแนนจากการประเมินนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ดังนี้



จะเห็นได้ว่าในแต่ละรอบของการประเมินในระยะหลัง  ทั้งสองประเทศมีคะแนนประเมินตกลงจากการประเมินรอบก่อน  ในส่วนของประเทศมาเลเซียได้มีการจัดทำข้อเสนอทางการศึกษา  โดยมีการจัดทำพิมพ์เขียวการศึกษา หรือ Malaysia Education Blueprint 2013-2025 โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับการศึกษาของคนมาเลเซียให้ขึ้นเทียบชั้นกับคนในประเทศที่มีการศึกษาดีที่สุดในโลกในปี ค.ศ.2025 โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 (ค.ศ. 2013 – 2015) เป็นช่วงวางรากฐาน ช่วงที่ 2 (ค.ศ. 2016 – 2020) เป็นช่วงการเร่งพัฒนาและปรับโครงสร้าง ช่วงที่ 3 (ค.ศ. 2021 – 2025) เป็นช่วงที่จะนำระบบการศึกษาไปสู่ความเป็นเลิศ ซึ่งในแต่ละช่วงรัฐบาลมาเลเซียได้กำหนดผลลัพธ์หลักในการพัฒนาการศึกษาของประเทศไว้อย่างชัดเจน ดังนี้

ช่วงที่ 1 (ค.ศ. 2013 – 2015) วางรากฐาน

1.     นักเรียนอ่านและเขียนภาษาบาฮาซาและภาษามาเลเซียได้ 100% และภายหลังจากเข้าระบบการศึกษาเป็นเวลา 3 ปี นักเรียนจะต้องสามารถอ่านและเขียนภาษาอังกฤษได้

2.     มีการเข้ารับการศึกษาในระดับก่อนวัยเรียน 92%  ระดับประถมศึกษา 98% ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 90%  ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 85%

3.     ลดช่องว่างระหว่างในเมืองและชนบทลง 25%

ช่วงที่ 2 (ค.ศ. 2016 – 2020) เร่งพัฒนาและปรับโครงสร้าง

1.     มีผลประเมินโครงการ TIMSS และ PISA ในรอบต่อไปเท่ากับค่าเฉลี่ยนานาชาติ

2.     มีการเข้ารับการศึกษาในระดับก่อนวัยเรียนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 100% และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 90%

3.     ลดช่องว่างระหว่างในเมืองและชนบทลง 50% และลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมและลดช่องว่างทางเพศลง 25%

ช่วงที่ 3 (ค.ศ. 2021 – 2025) นำระบบการศึกษาไปสู่ความเป็นเลิศ

1.     มีผลประเมินโครงการ TIMSS และ PISA ในสามอันดับแรก

2.     มีการเข้ารับการศึกษาให้ไม่ต่ำกว่าในช่วงที่ 2 และผลักดันให้มีอัตราการเข้ารับการศึกษาเพิ่มขึ้น

3.     รักษาการลดช่องว่างระหว่างในเมืองและชนบทลงให้ไม่ต่ำกว่าในช่วงที่ 2 และผลักดันในการลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมและลดช่องว่างทางเพศลง 50%

 

โดยในการเก็บรวมข้อมูลของโครงการ TIMSS 2015 นั้นตรงกับ ค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการพัฒนาการศึกษาในช่วงที่ 1 ดังนั้นในการประกาศผลการประเมินของโครงการ TIMSS 2015 ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2559 ซึ่งตรงกับปี ค.ศ. 2016 จึงเป็นที่น่าจับตาว่าประเทศมาเลเซียจะมีผลการประเมินเพิ่มขึ้นอย่างที่ได้วางเป้าหมายไว้หรือไม่

 

………………………………………………………..

 

ข้อมูลอ้างอิง

http://www.moe.gov.my/userfiles/file/PPP/Preliminary-Blueprint-Eng.pdf

http://timssandpirls.bc.edu/timss2011/international-results-mathematics.html

http://timssandpirls.bc.edu/timss2011/international-results-science.html